You are currently browsing the category archive for the ‘ประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล’ category.

ความภาคภูมิใจครั้งใหม่ของชาวมหาวิทยาลัยมหิดล

การพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน(ในขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากขณะนั้นยังมิได้ทรงประกอบพิธีบรมราชภิเษก) ทรงพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกในรัชสมัยของพระองค์ ณ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2493


ซึ่งมีรายงานงานพิธีประสาทปริญญาบัตร และอนุปริญญา ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ 2493  ระบุชื่อของบัณฑิตผู้เข้ารับปริญญาบัตรดังต่อไปนี้ (เฉพาะบัณฑิตลำดับที่ 1 ของแต่ชั้นปริญญาบัตร)
ดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ คนแรก คือ นายแพทย์เอื้อม  ศิลาอ่อน
มหาบัณฑิตย์ คนแรก คือ นายแพทย์เขียน  กรัยวิเชียร
บัณฑิตย์ คนแรก คือ นายเกษม  วนะภูติ

ซึ่งบัณฑิตย์คนแรกที่ระบุนั้น ในอนาคตผู้เขียนจะสืบค้นข้อมูลมานำเสนออีกครั้งเกี่ยวกับประวัติของบัณฑิตย์ผู้นี้ต่อไป จึงขอบันทึกเรื่องราวเหล่านี้ไว้ เป็นข้อมูลประวัติศาสตร์สำคัญอีกครั้งหนึ่งของวงการอุดมศึกษาไทย

ชาญณรงค์  พุ่มบ้านเช่า
ฝ่ายสื่อสารองค์กร คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล
8 มกราคม 2553


เอกสารอ้างอิง
งานพิธีประสาทปริญญา และอนุปริญญาของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ 2493.  (2493).

กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์ภักดีประดิษฐ์

ที่มาของเอกสาร : งานประมวลผลการศึกษา  กองบริหารการศึกษา  สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล

 

เพลง เทิดพระนาม

         มหิดล คือ พระนาม ปิ่นสยามพระราชบิดา  ที่โปรดเกล้าพระราชทานมา เป็นชื่อมหาวิทยาลัย

        มหิดล คือพระนาม ปิ่นสยามพระราชบิดา  ที่โปรเกล้าพระราชทานมา เป็นชื่อมหาวิทยาลัย

          อัตตานัง  อุปมังกเร เราจะทุ่มเท พลังกายใจ เพื่อสนองพระบาทไท้ พระทรงมุ่งใจตั้งปณิธาน

         อัตตานัง อุปมังกเร เราจะทุ่มเท พลังกายใจ เพื่อสนองพระบาทไท้ พระทรงมุ่งใจตั้งปณิธาน

          พวกเรา ชาวมหิดล ถ้วนทุกคน พร้อมพรักสมัครสมาน จะกอรปกิจ เทิดนามพระราชทาน ให้ตระการก้องหล้า ทั่วฟ้าดิน

          พวกเราชาวมหิดล ถ้วนทุกคน พร้อมพรักสมัครสมาน จะกอรปกิจ เทิดนามพระราชทาน ให้ตระการก้องหล้าทั่วฟ้าดิน ให้ตระการก้องหล้า ทั่วฟ้า….ดิน

          เนื้อเพลงข้างต้นเป็นเพลงที่พวกเราชาวมหาวิทยาลัยมหิดลทุกคน ถือว่าเป็นเสมือนหนึ่งเพลงประจำมหาวิทยาลัยของเราอย่างไม่เป็นทางการ แต่ความผูกพันธ์กับเพลงนี้จริงๆ แล้วนั้น ณ ปัจจุบัน เมื่อเอ่ยถึงนามผู้ที่แต่งทำนองและแต่งคำร้องของเพลงเทิดพระนามนี้ อาจจะมีไม่กี่ท่านที่จะทราบได้ จึงขอบันทึกเรื่องนี้ไว้ ณ โครงการข้อมูลประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อที่จะได้ง่ายต่อการสืบค้นต่อไปในอนาคต

                สำหรับเรื่องราวเกี่ยวกับเพลงนี้นั้น เกิดขึ้นในคราวหนึ่งผู้เขียนได้รับความอนุเคราะห์เอกสารเนื้อเพลงเทิดพระนามจากรองศาสตราจารย์ปรีชา สุนทรานันท์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและกิจกรรมพิเศษ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ระบุถึงเนื้อเพลงเทิดพระนาม และที่สำคัญยังได้ระบุถึงนามผู้แต่งเนื้อร้องและทำนองเพลงเทิดพระนามอีกด้วยนับเป็นเอกสารชิ้นสำคัญยิ่ง นำไปสู่การสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับเพลงในที่สุด ในคำสำคัญของเอกสารนั้นคือ ผู้แต่งทำนอง ศาสตราจารย์นายแพทย์วราวุธ สุมาวงศ์ และผู้แต่งคำร้อง อาจารย์บุญเสริม พึ่งพุทธรัตน์ อดีตรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี

               และต่อมาผู้เขียนได้ติดต่อและสืบค้นเพื่อสอบถามไปยังสำนักงานผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้รับคำตอบว่าอาจารย์บุญเสริมได้เกษียณไปแล้ว แต่ได้รับความอนุเคราะห์ช่วยเหลือจากคุณพี่ประสาน (กราบขออภัยที่ไม่ได้สอบถามนามสุกลของคุณพี่ประสาน) ให้ความช่วยเหลือในเรื่องเบอร์โทรศัพท์บ้านพักของอาจารย์บุญเสริม และผู้เขียนได้ติดต่อไปยังบ้านพักอาจารย์บุญเสริมเป็นผลสำเร็จแด้เรียนสอบถามและนัดหมายอาจารย์บุญเสริมเกี่ยวกับเรื่องการแต่งเพลงเทิดพระนามนี้ และจะมีการเรียนสัมภาษณ์อาจารย์บุญเสริม เพื่อเก็บเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดลต่อไป

              อนึ่ง นอกจากข้อมูลทางอาจารย์บุญเสริมแล้วนั้น ผู้เขียนจะพยายามติดต่อและสืบค้นข้อมูลจากทางด้านศาสตราจารย์นายแพทย์วราวุธต่อไป เพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุดที่จะนำมาบันทึกไว้ต่อไปในอนาคต

 

ชาญณรงค์  พุ่มบ้านเช่า กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล

บันทึก ณ วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๓

ชาญณรงค์  พุ่มบ้านเช่า

 

          มหาวิทยาลัยมหิดลมีรากฐานที่สำคัญยิ่งมาจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ซึ่งปฐมเหตุของการสถาปนามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์นั้น เกิดขึ้นเนื่องจาก ในต้นปี พ.ศ.๒๔๘๕ รัฐบาล จอมพลแปลก พิบูลสงคราม  ต้องการขยายงานทางสาธารณสุขของประเทศไทย  จึงมีคำสั่ง สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการปรับปรุงการแพทย์  ความตอนหนึ่งว่า

          “ด้วยปรากฏมานานแล้วว่า ประชากรของชาติมีอนามัยไม่ดี กับได้รักษาไม่ทั่วถึงและไม่สมบูรณ์เพียงพอ จึงทำให้มีผู้ถึงแก่กรรมในเยาว์วัยมาก ทำให้มีการเพิ่มพลเมืองไม่เป็นไปตามสัดส่วนอันพึงประสงค์ จึงเห็นเป็นการสมควรจะปรับปรุงกิจการของชาติในส่วนนี้ให้รัดกุมยิ่งขึ้น และเหมาะแก่กาลสมัย โดยมีความประสงค์จะรวมกิจการแพทย์ทั้งสิ้นเป็นหน่วยเดียวกัน ฉะนั้นจึงให้ตั้งกรรมการขึ้นพิจารณาจัดการปรับปรุงการแพทย์ให้สมความประสงค์ดังกล่าวแล้วข้างต้นคณะหนึ่ง..”

ต่อมาในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๕ คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้เสนอแผนการจัดตั้งกระทรวงการสาธารณสุขและกรมต่าง ๆ ในกระทรวง กรมหนึ่งในนั้นคือ กรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์  มีคำชี้แจงการจัดตั้งกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ดังนี้

          “กรมนี้จะได้จัดตั้งขึ้นโดยโอนการปกครองการศึกษาที่เกี่ยวกับการแพทย์มาตั้งเป็นกรมหนึ่ง คือ โอนคณะแพทยศาสตร์และโรงพยาบาลศิริราช คณะทันตแพทยศาสตร์  คณะเภสัชศาสตร์กับคณะสัตวแพทยศาสตร์ มาตั้งเป็นกองตามลักษณะแห่งการศึกษานั้น ๆ ส่วนการเตรียมเพื่อเข้าศึกษาวิชาเหล่านั้นยังคงขึ้นอยู่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมนี้รวมทั้งสำนักงานเลขานุการจะเป็นหน่วยราชการซึ่งมีฐานะเป็นกอง ๕ กอง”

           เมื่อพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบการกระทรวงการสาธารณสุข ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  ตอนที่ ๑๖ เล่มที่ ๕๙ ลงวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๕ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์จึงได้กำเนิดขึ้นในวันดังกล่าวนั้นเอง

          เมื่อสถาปนามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ขึ้นแล้ว ได้มีการเปลี่ยนแปลงประเพณีต่าง ๆ เช่น เปลี่ยนเสื้อครุยปริญญาของบัณฑิตจากครุยไทยเป็นครุยฝรั่งสีดำที่ขอบเสื้อและขอบผ้าคล้องคอเป็นสีประจำคณะขลิบขอบด้วยสีแดงซึ่งเป็นสีประจำมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์

          ต่อมาคณะกรรมการมหาวิทยาลัยมีความเห็นว่าบนตรามหาวิทยาลัยควรมีคำขวัญปรากฏอยู่ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจของนักศึกษาและบัณฑิตทั้งหลาย พันเอกช่วง เชวงศักดิ์สงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและนายกสภามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในขณะนั้น ได้ขอรับภาระเป็นผู้จัดหาคำขวัญที่เหมาะสมและได้เสนอ “อตฺตานํ อุปมํกเร” ตามคำแนะนำของ พระเถระชั้นผู้ใหญ่รูปหนึ่ง  ซึ่งคณะกรรมการมหาวิทยาลัยฯ เห็นพ้องด้วย คำขวัญนี้จึงเป็นสมบัติประจำของมหาวิทยาลัยสืบต่อมา

        ที่มาของคติพจน์นี้ ศาสตราจารย์นายแพทยอวย เกตุสิงห์ ได้เขียนอธิบายไว้ใน  สารศิริราช ปีที่ ๑๓ ฉบับวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๔  ความตอนหนึ่งว่า “ต้นตอของคติพจน์นี้เข้าใจว่าเป็นพระพุทธวัจนะตอนหนึ่งซึ่งปรากฏในพระสุตตันตปิฎก ความเดิมที่ว่า “สพฺเพ ตสนฺติทณฺฑสฺส สพฺเพ ภยนฺติ มจฺจุโน อตฺตานํ อุปมํ กตวา ฯลฯ” แปลโดยสรุปว่า “สัตว์ทั้งปวงย่อมเกรงกลัว การลงทัณฑ์ ย่อมเกรงกลัวความตาย พึงกระทำตนให้เป็นอุปมา ฯลฯ” ความมุ่งหมายดังเดิ ของพระพุทธภาษิตนั้นคือ เพื่อเตือนบุคคลให้ระลึกถึงความรู้สึกนึกคิดของบุคคลอื่นหรือแม้แต่สัตว์ และยับยั้งชั่งใจในการกระทำต่างๆ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับการประทุษร้ายหรือการประหัตประหาร

         สำหรับคติพจน์ประจำมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ “อตฺตานํ อุปมํกเร” นั้น ได้รวบรัดให้มีคำน้อยลง ให้จบประโยคโดยสั้นเข้า แต่คตินี้มีความหมายกว้างขวางมาก เพราะตามรูปศัพท์แปลว่า “พึงกระทำตนเป็นอุปมา” ซึ่งเป็นการกล่าวลอย ๆ ไม่มีบทประกอบใด ๆ จำกัดความ ดังนั้นจึงอาจใช้ได้ในแง่ต่าง ๆ โดยทั่วไป

        ถ้าจะกล่าวอย่างง่าย ๆ คติพจน์นี้ก็มีความหมายว่าเมื่อจะกระทำอะไรแก่ใคร ควรลองนึกดูเสียก่อนว่า หากมีผู้มากระทำเช่นนั้นแก่เรา เราจะมีความรู้สึกอย่างไร หรือถ้าจะใช้คำกล่าวที่พูดกันอยู่โดยแพร่หลายว่า “พึงใจเขามาใส่ใจเรา” ก็เห็นจะพอได้”

        ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๓ มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีหนังสือ ที่ ทม ๐๘๐๑/๒๘๙๘ นมัสการ พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต) เพื่อขอความกรุณาให้ช่วยแปลและให้ความหมายคำขวัญของมหาวิทยาลัย ซึ่งพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต) ได้มีหนังสือจากสำนักสงฆ์ญาณเวศกวัน ลงวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๓๓ เรื่อง การแปลความหมายคำขวัญของมหาวิทยาลัย ความว่า

       “อาตมาภาพได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า ความหมายที่ทางมหาวิทยาลัยได้เรียบเรียงไว้ว่า “คิดและปฏิบัติต่อผู้อื่น ดังเช่นที่คิดและปฏิบัติต่อตนเอง” ก็เป็นข้อความที่ได้ความหมายดี แต่อาจจะตัดให้สั้นเพื่อให้กระทัดรัดขึ้น หรือใช้ข้อความอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

พึงปฏิบัติต่อผู้อื่น เหมือนดังปฏิบัติต่อตนเอง

พึงใส่ใจทุกข์ของผู้อื่น เหมือนใส่ใจทุกข์สุขของตน

พึงใส่ใจทุกข์ของผู้อื่น เหมือนดังทุกข์สุขของตน

ทำเพื่อเขา ให้เหมือนกับที่คิดจะทำให้แก่ตัวเราเอง

ทำเพื่อผู้อื่น ให้เหมือนกับที่ทำเพื่อตนเอง

ทำเพื่อผู้อื่น เหมือนดังเพื่อตนเอง

ทำเพื่อความสุขของผู้อื่น ดุจทำเพื่อความสุขของตน

ทำเพื่อความสุขของผู้อื่น เหมือนที่จะทำให้แก่ตนเอง

ทำต่อผู้อื่นด้วยจิตสำนึกว่า เขารักสุขเกลียดทุกข์เช่นเดียวกับเรา

พึงทำต่อเขา เหมือนที่อยากให้ผู้อื่นทำต่อตนเอง

ทำต่อผู้อื่น เหมือนที่อยากให้เขาทำต่อเรา”

        โดยความหมายที่พระเทพเวที(ประยุทธ์ ปยุตโต) ได้ให้มานั้น ได้นำเข้าที่ประชุมคณบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ ๑๐/๒๕๓๓ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๓๓ โดยประธานที่ประชุมได้สรุปให้คำแปลทั้งหมดสามารถนำไปใช้ได้ สุดแท้แต่ว่าจะเลือกความหมายใด แต่จะขอให้ใช้คำภาษาบาลี “อตฺตานํ อุปมํกเร” ต่อไป

        เป็นที่น่าแปลกใจที่คำว่า “อตฺตานํ อุปมํกเร” ก่อนที่จะมาเป็นคติพจน์มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์นั้น ปรากฏคำว่า “ใจเขาใจเรา” ซึ่งอาจจะอนุมานได้ว่าเป็นคำแปลประโยคหนึ่งของของภาษาบาลีคำนี้ในลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ถึงสภานายกและสมาชิกของสโมสรแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ซึ่งขณะนั้น คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล ยังคงขึ้นอยู่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-ผู้เขียน) ลงวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๗๒ โดยมีความตอนหนึ่งว่า

        “การที่จะได้ความไว้ใจของคนไข้ ขอท่านถือสุภาสิต(สะกดตามลายพระหัตถ์-ผู้เขียน)ว่า “ใจเขาใจเรา” ท่านคงจะคิดได้ว่า ท่านอยากได้ความสบายแก่ตัวท่านอย่างไร ก็ควรพยายามให้ความสบายแก่คนไข้อย่างนั้น ความจริงตั้งใจเป็นยาประเสริฐ ได้ผลคือความเชื่อ และเมื่อคนไข้เชื่อท่านแล้วเขาจะทำตามทุกอย่าง คนไข้โดยมากอยากรู้ความจริง เราไม่เชื่อความหลอกลวงของเราเองแล้วที่ไหนจะหวังให้คนไข้เชื่อ ถ้าท่านหลอกคนไข้แล้ว ท่านก็ต้องรักษาเขาได้หนเดียวโลกนี้เล็ก ถ้าท่านไม่ให้ยาจนเขาตายท่านจะเจอเขาอีก และเขามีปากบอกความชั่วความดีกันไปต่อๆ”

         ซึ่งลายพระหัตถ์ข้างต้นนี้ มีขึ้นก่อนหน้าที่จะกำหนดคำว่า “อตฺตานํ อุปมํกเร” เป็นคติพจน์ประจำมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ถึง ๑๔ ปี จึงนับว่ามหาวิทยาลัยมหิดลได้ดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทแห่งสมเด็จพระบรมราชชนกมาอย่างต่อเนื่อง และจะดำเนินต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นสำคัญดังพระราชปณิธานใน สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระผู้เป็นที่มาแห่งนามมหาวิทยาลัยอันเป็นมงคลยิ่งของพวกเราชาวมหาวิทยาลัยมหิดลที่ว่า “ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตัวเปนที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษเปนกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพย์ไว้ให้บริสุทธิ์”

เอกสารอ้างอิง  

 จินตนา ศิรินาวิน,ศุภชัย รัตนมณีฉัตร,ประเสริฐ ทองเจริญและสรรใจ แสงวิเชียร. (๒๕๓๑).

         ศิริราชร้อยปี :ประวัติและวิวัฒนาการ.  กรุงเทพ : คณะแพทยศาสตร์ศิรราชพยาบาล

บริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล, กอง. 

          แฟ้มเอกสารชื่อตรามหาวิทยาลัย. งานการประชุมและพิธีการ

วิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์. (บก.). (๒๕๓๔). ๑๐๐ ปี สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกร

            พระบรมราชชนก. กรุงเทพ : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.

อวย เกตุสิงห์. (๒๕๐๔, เมษายน). แด่หมอใหม่-อตฺตานํ อุปมํ กเร. สารศิริราช, ๑๓

            (๔ เมษายน ๒๕๐๔), ๒๑๙-๒๒๑.

สืบค้น บันทึก เรียบเรียง โดย :

ชาญณรงค์  พุ่มบ้านเช่า กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล

ชาญณรงค์  พุ่มบ้านเช่า 

 

         นับตั้งแต่วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๑๒ เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าพระราชทานนามมหาวิทยาลัย “มหิดล” อันเป็นพระนามาภิไธยแห่งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ดังพระราชปรารภความตอนหนึ่งว่า “โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์ จึงให้จัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยใหม่เรียกว่า “มหาวิทยาลัยมหิดล”  มีขอบเขตดำเนินงานกว้างขวางยิ่งขึ้น” (ราชกิจจานุเบกษา  ฉบับพิเศษ เล่มที่ ๘๖ ตอนที่ ๗  หน้าที่ ๕ – ผู้เขียน) 

                    หลังจากนั้นล่วงมาได้ ๕๓ วัน ศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชวาล  โอสถานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลในขณะนั้น ได้เรียกประชุมคณบดีเพื่อกำหนดตรามหาวิทยาลัย ที่ประชุมมีมติให้อัญเชิญตราส่วนพระองค์มาเป็นต้นแบบตรามหาวิทยาลัย   และมหาวิทยาลัยมหิดลมีหนังสือ ที่ สร.๒๓๐๑/๕๕๙๖ ลงวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๑๒ เรื่อง ขอพระราชทานตรามหาวิทยาลัยมหิดล   ความตอนหนึ่งว่า “มหาวิทยาลัยมหิดล มีความจำเป็นต้องใช้ตรามหาวิทยาลัยใหม่ ที่ประชุมคณบดีจึงได้ประชุมปรึกษาหารือกันและมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นสมควรอัญเชิญตราส่วนพระองค์ของสมเด็จพระราชบิดาฯ  (พระยศขณะนั้น-ผู้เขียน) ซึ่งทรงใช้เป็นประจำในหนังสือส่วนพระองค์ มาเป็นตรามหาวิทยาลัยมหิดล ดังที่ได้แนบเสนอมาพร้อมกับหนังสือนี้  ๑ เล่มด้วยแล้ว แต่ที่ประชุมยังสงสัยว่ามงกุฎในตรานั้น จะยังไม่เป็นที่ถูกต้อง จึงทูลมาเพื่อขอได้โปรดนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องพระมงกุฎและขอพระบรมราชานุญาตใช้ตราดังกล่าวเป็นตราประจำมหาวิทยาลัยมหิดลต่อไป การจะควรประการใดสุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ”

                   แบบร่างตราที่มหาวิทยาลัยมหิดลแนบเสนอไปทูลเกล้าฯ ในครั้งนั้น ได้ค้นพบข้อมูลเพิ่มเติมจากแฟ้มเลขที่ ๔.๑.๑ ที่มาของสี ตรา ต้นไม้สัญลักษณ์มหาวิทยาลัยมหิดล (เอกสาร งานจัดเก็บและรักษาเอกสาร กองกลาง สำนักงานอธิการบดี)   มีเอกสารบันทึกข้อความ หัวกระดาษมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ธนบุรี ลงวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๑๒ ลงนามโดยศาสตราจารย์นายแพทย์กษาน  จาติกวณิช ความตอนหนึ่งว่า “ท่านคณบดีคุณหมอสุดได้เสนอตราของมหาวิทยาลัยและยืนยันว่าได้ขยายมาจากหัวกระดาษ จดหมายของท่าน โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง”

                  ศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชวาล โอสถานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ในขณะนั้น ได้สั่งการตามหนังสือลงวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๑๒ ความตอนหนึ่งว่า “ศาสตราจารย์สุด กรุณาให้เจ้าหน้าที่เขียนลงบนกระดาษที่หนาพอสมควรสัก ๓ แผ่น  เพื่อถวายในหลวงทอดพระเนตร ๑ สมเด็จพระราชชนนี ๑ และเพื่อทำ Block ๑ เมื่อทรงเห็นด้วย” และอีกฉบับหนึ่งลงวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๑๒  ความหนึ่งว่า “ศาสตราจารย์สวัสดิ์ ลองติดต่อคุณทวีสันต์ว่าจะต้องเข้าเฝ้าหรือส่งแบบตราไปถวายทอดพระเนตรฯ (ได้พูดกับศาสตราจารย์กษานไว้ด้วยแล้ว)”

                 ในแฟ้มเอกสารดังกล่าว ยังได้พบตรามหาวิทยาลัยมหิดลแบบแรกที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้มอบหมายให้นายแพทย์นันทวัน  พรหมผลิน ผู้อำนวยการโรงเรียนช่างภาพทางการแพทย์ (โรงเรียนเวชนิทัศน์ สถานเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์   คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาลในปัจจุบัน-ผู้เขียน) เป็นผู้ออกแบบ อาจารย์กอง สมิงชัย อาจารย์โรงเรียนช่างภาพทางการแพทย์เป็นผู้ช่วยร่างแบบ ซึ่งแบบตราดังกล่าวได้นำตราของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เดิมเป็นตรางูพันคบเพลิงในวงกลมซ้อนสองวง ระหว่างวงกลมมีภาษาบาลีเขียนด้วยอักษรไทยว่า“อตฺตานํ อุปมํกเร” ครึ่งล่างมีคำว่า “มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” คั่นด้วยลายดอกประจำยาม นำมาปรับใช้  โดยนำตรางูพันคบเพลิงออกแล้วอัญเชิญตราส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมราชชนกเข้าแทน และเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยมหิดล โดยให้คงภาษาบาลีคำว่า“อตฺตานํ อุปมํกเร”ไว้ เมื่อออกแบบเสร็จแล้ว  จึงนำเสนอทูลเกล้าฯ เพื่อขอพระบรมราชวินิจฉัย

        จากการสอบถาม ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์สรรใจ  แสงวิเชียร ที่ปรึกษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ผู้เชี่ยวชาญในพระราชกรณียกิจสมเด็จพระบรมราชชนก ได้ให้ข้อมูลว่า ตราที่เสนอทูลเกล้าถวายในครั้งนั้นเป็นตราประจำพระองค์ ซึ่งเป็นตราประทับในหนังสือส่วนพระองค์และสมุดบันทึกคำสอนในสมเด็จพระบรมราชชนก  ตราประจำพระองค์นี้  ถือเป็นตราประจำพระองค์ขององค์ผู้เป็นต้นราชสกุล “มหิดล” จึงถือว่าตรานี้เป็นตราประจำราชสกุลมหิดลอีกด้วย

        เหตุที่ตรามหาวิทยาลัยมหิดลแบบแรกยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบันนั้น สืบเนื่องมาจากศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชวาล โอสถานนท์ อธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีดำริให้ศาสตราจารย์นายแพทยสุด แสงวิเชียร จัดทำตราดังกล่าวเป็น ๓ แบบ อัดลงบนกระดาษที่หนาพอควร ตามเอกสารบันทึกข้อความหัวกระดาษมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น  โดยตราที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ คือตราที่ใช้ในการจัดทำบล็อก และนำตราที่จะไปจัดทำบล็อกนั้นเก็บรักษาไว้ที่นายอร่าม สิทธิสาริบุตร ผู้อำนวยการกองกลาง สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลในขณะนั้น  และเก็บรักษามาจนถึงปัจจุบันนี้    ส่วนตรามหาวิทยาลัยสองตราแรกที่ศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชวาล โอสถานนท์ อธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีดำริให้จัดทำนั้น คาดว่าจะส่งไปทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหนึ่งตรา และทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระราชชนนี (พระยศขณะนั้นของสมเด็จพระศรีนครินทราพระบรมราชชนนี -ผู้เขียน) อีกหนึ่งตรา

        ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๑๒ มีหนังสือจากวังสระปทุม ลงนามโดยหม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา  ดิศกุล เลขานุการในพระองค์ฯ เรียน ท่านอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง ขอประทานกราบทูลเชิญสมเด็จพระราชชนนี ฯ เป็นประธานคณะกรรมการส่งเสริมมหาวิทยาลัยมหิดล ฯ ความตอนหนึ่งว่า

        “เรื่องขอพระราชทานคำปรึกษาเกี่ยวกับตราประจำมหาวิทยาลัยนั้น ทรงมอบเรื่องไว้ที่สำนักราชเลขาธิการเรียบร้อยแล้ว ขอให้ท่านได้ติดต่อกับสำนักราชเลขาธิการเพื่อดำเนินการต่อไป”

        ส่วนตราที่ได้เสนอทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อขอพระบรมราชวินิจฉัยนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานแก่หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี สถาปนิกพิเศษประจำสำนักพระราชวังเพื่อเป็นต้นแบบในการปรับแก้ไขตรีและพระมหามงกุฏของตราให้เป็นแบบไทย (จากหนังสือช่างหลวง ผลงานสถาปัตยกรรมไทยของหม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี หน้า ๓๑๙ และหน้า ๓๙๕ -ผู้เขียน)

        ต่อมาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่มหาวิทยาลัยมหิดล ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการ ที่ รล ๐๐๐๒/๒๙๗๙ ลงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๑๒ เรื่อง พระราชทาน ตรามหาวิทยาลัยมหิดล ความว่า“ตามที่มหาวิทยาลัยมหิดลขอให้นำความกราบบังคมทูล  พระกรุณาขอพระราชทานตรามหาวิทยาลัยความแจ้งอยู่แล้วนั้น ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตรามหาวิทยาลัย ตามแบบตราที่แนบมาพร้อมหนังสือนี้”

         ทั้งหมดนี้คือเหตุแห่งที่มาของการพระราชทานตรามหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราประจำพระองค์ของสมเด็จ พระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยอันประกอบไปด้วยพระเมตตาอย่างหาที่สุดมิได้ ดังความในพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่ชาวมหาวิทยาลัยมหิดล ในโอกาสเสด็จฯ ไปทรงดนตรีเป็นการส่วนพระองค์ ณ สวนอัมพร พระราชวังดุสิต เมื่อวันเสาร์ ที่ ๒๙ กรกฏาคม ๒๕๑๓  ตอนหนึ่งว่า“…และโดยเฉพาะผู้ที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ก็ถือต่างเป็นลูกของท่าน ก็นับว่าเรามีสิ่งที่ใกล้เคียงกัน เพราะว่าเป็นลูกของท่านเหมือนกันและนับได้ด้วยว่ามีพี่น้องจำนวนมากน่าชื่นใจ คนที่เป็นพี่น้องกันควรช่วยกันเสมอ มีความสามัคคีกัน เพื่อที่จะให้วงศ์ตระกูลชื่อเสียงของตนดี สร้างสรรค์ให้ทำประโยชน์ให้ส่วนรวมมีความเจริญก้าวหน้า…”

         ชาวมหาวิทยาลัยมหิดลทุกคนควรน้อมนำพระบรมราโชวาทในครั้งนั้น ใส่ไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมและยึดถือเป็นแนวประพฤติปฏิบัติตราบนิจนิรันดร์

เอกสารอ้างอิง 

คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, สำนักงาน.  (๒๕๓๗).  ประมวลภาพเหตุการณ์งานฉลอง

          พระราชสมภพครบ ๑๐๐ ปี ๒๕๓๕ : สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระ

          บรมราชชนก. กรุงเทพฯ :

แน่งน้อย  ศักดิ์ศรี ,ม.ร.ว.  (๒๕๓๙).  ช่างหลวง : ผลงานสถาปัตยกรรมไทย ของ     

           หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ  เกษมศรี .  พิมพ์ครั้งที่ ๑ . กรุงเทพ :  สมาคมสถาปนิกสยาม

            ในพระบรมราชูปถัมภ์.

บริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล, กอง.  แฟ้มเอกสารชื่อตรา

        มหาวิทยาลัย.งานการประชุมและพิธีการ

บริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล, กอง.  แฟ้มเอกสารชื่อที่มาของสี

          ตรา ต้นไม้สัญลักษณ์มหาวิทยาลัยมหิดล.  เลขที่ ๔.๑.๑. งานจัดเก็บและรักษาเอกสาร

พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. ๒๕๑๒.  (๑๐ธันวาคม ๒๕๕๑).  

       ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ ที่ ๘๖ (ตอนที่ ๑๗). หน้า ๔ –๒๗

แพทยศาสตร์ศิรราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะ. (๒๕๕๑). ๑๒๐ ปี ศิริราช .

             กรุงเทพฯ : แปลน พริ้นติ้ง. 

 

บุคคลผู้ให้ข้อมูล

     ๑.     ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์สรรใจ  แสงวิเชียร  ที่ปรึกษาคณะแพทยศาสตร์

              ศิริราชพยาบาล

      ๒.   นางสาววิกัลย์  พงศ์พนิตานนท์  หัวหน้างานหอจดหมายเหตุศิริราช

      ๓.   นายจิระ  กาญจนินทุ  นักวิชาการโสตทัศนศึกษา ๘  ชำนาญการ

             กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

สืบค้น บันทึก เรียบเรียง โดย :

ชาญณรงค์  พุ่มบ้านเช่า กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล

วันที่ 15 มกราคม 2553 ได้มีเปิดตัวโครงการข้อมูลประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดลและบันทึกไว้เพื่อเป็นหลักฐานสำคัญ และเพื่อสืบค้นหาประวัติและพัฒนาการมหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบและติดตามเ พื่อให้ได้ซึ่งคำตอบทางประวัติศาสตร์เหล่านั้น แล้วนำมาเผยแพร่ให้ทุกคนที่สนใจและนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างดีที่สุด