ชาญณรงค์  พุ่มบ้านเช่า 

 

         นับตั้งแต่วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๑๒ เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าพระราชทานนามมหาวิทยาลัย “มหิดล” อันเป็นพระนามาภิไธยแห่งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ดังพระราชปรารภความตอนหนึ่งว่า “โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์ จึงให้จัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยใหม่เรียกว่า “มหาวิทยาลัยมหิดล”  มีขอบเขตดำเนินงานกว้างขวางยิ่งขึ้น” (ราชกิจจานุเบกษา  ฉบับพิเศษ เล่มที่ ๘๖ ตอนที่ ๗  หน้าที่ ๕ – ผู้เขียน) 

                    หลังจากนั้นล่วงมาได้ ๕๓ วัน ศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชวาล  โอสถานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลในขณะนั้น ได้เรียกประชุมคณบดีเพื่อกำหนดตรามหาวิทยาลัย ที่ประชุมมีมติให้อัญเชิญตราส่วนพระองค์มาเป็นต้นแบบตรามหาวิทยาลัย   และมหาวิทยาลัยมหิดลมีหนังสือ ที่ สร.๒๓๐๑/๕๕๙๖ ลงวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๑๒ เรื่อง ขอพระราชทานตรามหาวิทยาลัยมหิดล   ความตอนหนึ่งว่า “มหาวิทยาลัยมหิดล มีความจำเป็นต้องใช้ตรามหาวิทยาลัยใหม่ ที่ประชุมคณบดีจึงได้ประชุมปรึกษาหารือกันและมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นสมควรอัญเชิญตราส่วนพระองค์ของสมเด็จพระราชบิดาฯ  (พระยศขณะนั้น-ผู้เขียน) ซึ่งทรงใช้เป็นประจำในหนังสือส่วนพระองค์ มาเป็นตรามหาวิทยาลัยมหิดล ดังที่ได้แนบเสนอมาพร้อมกับหนังสือนี้  ๑ เล่มด้วยแล้ว แต่ที่ประชุมยังสงสัยว่ามงกุฎในตรานั้น จะยังไม่เป็นที่ถูกต้อง จึงทูลมาเพื่อขอได้โปรดนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องพระมงกุฎและขอพระบรมราชานุญาตใช้ตราดังกล่าวเป็นตราประจำมหาวิทยาลัยมหิดลต่อไป การจะควรประการใดสุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ”

                   แบบร่างตราที่มหาวิทยาลัยมหิดลแนบเสนอไปทูลเกล้าฯ ในครั้งนั้น ได้ค้นพบข้อมูลเพิ่มเติมจากแฟ้มเลขที่ ๔.๑.๑ ที่มาของสี ตรา ต้นไม้สัญลักษณ์มหาวิทยาลัยมหิดล (เอกสาร งานจัดเก็บและรักษาเอกสาร กองกลาง สำนักงานอธิการบดี)   มีเอกสารบันทึกข้อความ หัวกระดาษมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ธนบุรี ลงวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๑๒ ลงนามโดยศาสตราจารย์นายแพทย์กษาน  จาติกวณิช ความตอนหนึ่งว่า “ท่านคณบดีคุณหมอสุดได้เสนอตราของมหาวิทยาลัยและยืนยันว่าได้ขยายมาจากหัวกระดาษ จดหมายของท่าน โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง”

                  ศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชวาล โอสถานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ในขณะนั้น ได้สั่งการตามหนังสือลงวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๑๒ ความตอนหนึ่งว่า “ศาสตราจารย์สุด กรุณาให้เจ้าหน้าที่เขียนลงบนกระดาษที่หนาพอสมควรสัก ๓ แผ่น  เพื่อถวายในหลวงทอดพระเนตร ๑ สมเด็จพระราชชนนี ๑ และเพื่อทำ Block ๑ เมื่อทรงเห็นด้วย” และอีกฉบับหนึ่งลงวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๑๒  ความหนึ่งว่า “ศาสตราจารย์สวัสดิ์ ลองติดต่อคุณทวีสันต์ว่าจะต้องเข้าเฝ้าหรือส่งแบบตราไปถวายทอดพระเนตรฯ (ได้พูดกับศาสตราจารย์กษานไว้ด้วยแล้ว)”

                 ในแฟ้มเอกสารดังกล่าว ยังได้พบตรามหาวิทยาลัยมหิดลแบบแรกที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้มอบหมายให้นายแพทย์นันทวัน  พรหมผลิน ผู้อำนวยการโรงเรียนช่างภาพทางการแพทย์ (โรงเรียนเวชนิทัศน์ สถานเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์   คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาลในปัจจุบัน-ผู้เขียน) เป็นผู้ออกแบบ อาจารย์กอง สมิงชัย อาจารย์โรงเรียนช่างภาพทางการแพทย์เป็นผู้ช่วยร่างแบบ ซึ่งแบบตราดังกล่าวได้นำตราของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เดิมเป็นตรางูพันคบเพลิงในวงกลมซ้อนสองวง ระหว่างวงกลมมีภาษาบาลีเขียนด้วยอักษรไทยว่า“อตฺตานํ อุปมํกเร” ครึ่งล่างมีคำว่า “มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” คั่นด้วยลายดอกประจำยาม นำมาปรับใช้  โดยนำตรางูพันคบเพลิงออกแล้วอัญเชิญตราส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมราชชนกเข้าแทน และเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยมหิดล โดยให้คงภาษาบาลีคำว่า“อตฺตานํ อุปมํกเร”ไว้ เมื่อออกแบบเสร็จแล้ว  จึงนำเสนอทูลเกล้าฯ เพื่อขอพระบรมราชวินิจฉัย

        จากการสอบถาม ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์สรรใจ  แสงวิเชียร ที่ปรึกษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ผู้เชี่ยวชาญในพระราชกรณียกิจสมเด็จพระบรมราชชนก ได้ให้ข้อมูลว่า ตราที่เสนอทูลเกล้าถวายในครั้งนั้นเป็นตราประจำพระองค์ ซึ่งเป็นตราประทับในหนังสือส่วนพระองค์และสมุดบันทึกคำสอนในสมเด็จพระบรมราชชนก  ตราประจำพระองค์นี้  ถือเป็นตราประจำพระองค์ขององค์ผู้เป็นต้นราชสกุล “มหิดล” จึงถือว่าตรานี้เป็นตราประจำราชสกุลมหิดลอีกด้วย

        เหตุที่ตรามหาวิทยาลัยมหิดลแบบแรกยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบันนั้น สืบเนื่องมาจากศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชวาล โอสถานนท์ อธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีดำริให้ศาสตราจารย์นายแพทยสุด แสงวิเชียร จัดทำตราดังกล่าวเป็น ๓ แบบ อัดลงบนกระดาษที่หนาพอควร ตามเอกสารบันทึกข้อความหัวกระดาษมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น  โดยตราที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ คือตราที่ใช้ในการจัดทำบล็อก และนำตราที่จะไปจัดทำบล็อกนั้นเก็บรักษาไว้ที่นายอร่าม สิทธิสาริบุตร ผู้อำนวยการกองกลาง สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลในขณะนั้น  และเก็บรักษามาจนถึงปัจจุบันนี้    ส่วนตรามหาวิทยาลัยสองตราแรกที่ศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชวาล โอสถานนท์ อธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีดำริให้จัดทำนั้น คาดว่าจะส่งไปทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหนึ่งตรา และทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระราชชนนี (พระยศขณะนั้นของสมเด็จพระศรีนครินทราพระบรมราชชนนี -ผู้เขียน) อีกหนึ่งตรา

        ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๑๒ มีหนังสือจากวังสระปทุม ลงนามโดยหม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา  ดิศกุล เลขานุการในพระองค์ฯ เรียน ท่านอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง ขอประทานกราบทูลเชิญสมเด็จพระราชชนนี ฯ เป็นประธานคณะกรรมการส่งเสริมมหาวิทยาลัยมหิดล ฯ ความตอนหนึ่งว่า

        “เรื่องขอพระราชทานคำปรึกษาเกี่ยวกับตราประจำมหาวิทยาลัยนั้น ทรงมอบเรื่องไว้ที่สำนักราชเลขาธิการเรียบร้อยแล้ว ขอให้ท่านได้ติดต่อกับสำนักราชเลขาธิการเพื่อดำเนินการต่อไป”

        ส่วนตราที่ได้เสนอทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อขอพระบรมราชวินิจฉัยนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานแก่หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี สถาปนิกพิเศษประจำสำนักพระราชวังเพื่อเป็นต้นแบบในการปรับแก้ไขตรีและพระมหามงกุฏของตราให้เป็นแบบไทย (จากหนังสือช่างหลวง ผลงานสถาปัตยกรรมไทยของหม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี หน้า ๓๑๙ และหน้า ๓๙๕ -ผู้เขียน)

        ต่อมาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่มหาวิทยาลัยมหิดล ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการ ที่ รล ๐๐๐๒/๒๙๗๙ ลงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๑๒ เรื่อง พระราชทาน ตรามหาวิทยาลัยมหิดล ความว่า“ตามที่มหาวิทยาลัยมหิดลขอให้นำความกราบบังคมทูล  พระกรุณาขอพระราชทานตรามหาวิทยาลัยความแจ้งอยู่แล้วนั้น ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตรามหาวิทยาลัย ตามแบบตราที่แนบมาพร้อมหนังสือนี้”

         ทั้งหมดนี้คือเหตุแห่งที่มาของการพระราชทานตรามหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราประจำพระองค์ของสมเด็จ พระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยอันประกอบไปด้วยพระเมตตาอย่างหาที่สุดมิได้ ดังความในพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่ชาวมหาวิทยาลัยมหิดล ในโอกาสเสด็จฯ ไปทรงดนตรีเป็นการส่วนพระองค์ ณ สวนอัมพร พระราชวังดุสิต เมื่อวันเสาร์ ที่ ๒๙ กรกฏาคม ๒๕๑๓  ตอนหนึ่งว่า“…และโดยเฉพาะผู้ที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ก็ถือต่างเป็นลูกของท่าน ก็นับว่าเรามีสิ่งที่ใกล้เคียงกัน เพราะว่าเป็นลูกของท่านเหมือนกันและนับได้ด้วยว่ามีพี่น้องจำนวนมากน่าชื่นใจ คนที่เป็นพี่น้องกันควรช่วยกันเสมอ มีความสามัคคีกัน เพื่อที่จะให้วงศ์ตระกูลชื่อเสียงของตนดี สร้างสรรค์ให้ทำประโยชน์ให้ส่วนรวมมีความเจริญก้าวหน้า…”

         ชาวมหาวิทยาลัยมหิดลทุกคนควรน้อมนำพระบรมราโชวาทในครั้งนั้น ใส่ไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมและยึดถือเป็นแนวประพฤติปฏิบัติตราบนิจนิรันดร์

เอกสารอ้างอิง 

คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, สำนักงาน.  (๒๕๓๗).  ประมวลภาพเหตุการณ์งานฉลอง

          พระราชสมภพครบ ๑๐๐ ปี ๒๕๓๕ : สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระ

          บรมราชชนก. กรุงเทพฯ :

แน่งน้อย  ศักดิ์ศรี ,ม.ร.ว.  (๒๕๓๙).  ช่างหลวง : ผลงานสถาปัตยกรรมไทย ของ     

           หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ  เกษมศรี .  พิมพ์ครั้งที่ ๑ . กรุงเทพ :  สมาคมสถาปนิกสยาม

            ในพระบรมราชูปถัมภ์.

บริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล, กอง.  แฟ้มเอกสารชื่อตรา

        มหาวิทยาลัย.งานการประชุมและพิธีการ

บริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล, กอง.  แฟ้มเอกสารชื่อที่มาของสี

          ตรา ต้นไม้สัญลักษณ์มหาวิทยาลัยมหิดล.  เลขที่ ๔.๑.๑. งานจัดเก็บและรักษาเอกสาร

พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. ๒๕๑๒.  (๑๐ธันวาคม ๒๕๕๑).  

       ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ ที่ ๘๖ (ตอนที่ ๑๗). หน้า ๔ –๒๗

แพทยศาสตร์ศิรราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะ. (๒๕๕๑). ๑๒๐ ปี ศิริราช .

             กรุงเทพฯ : แปลน พริ้นติ้ง. 

 

บุคคลผู้ให้ข้อมูล

     ๑.     ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์สรรใจ  แสงวิเชียร  ที่ปรึกษาคณะแพทยศาสตร์

              ศิริราชพยาบาล

      ๒.   นางสาววิกัลย์  พงศ์พนิตานนท์  หัวหน้างานหอจดหมายเหตุศิริราช

      ๓.   นายจิระ  กาญจนินทุ  นักวิชาการโสตทัศนศึกษา ๘  ชำนาญการ

             กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

สืบค้น บันทึก เรียบเรียง โดย :

ชาญณรงค์  พุ่มบ้านเช่า กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล